MURSAT Blog


บล็อคส่วนบุคคล ใช้เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการระหว่างนักศึกษาปริญญามหาบัณฑิต หลักสูตรแขนงวิชาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก บทความวิจัย บทความวิชาการ หรือผลงานอื่นใดที่อ้างอิงถึงในบล็อคนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ในด้านวิชาการและการศึกษาเพียงเท่านั้น

Saturday, July 31, 2010

การดำเนินงานของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดในภาคใต้

ชื่องานวิจัย/บทความ
การดำเนินงานของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดในภาคใต้
The Operation of Provincial Special Education Centers in Southern Region

แหล่งอ้างอิง
ชื่อผู้วิจัย นายวิรัช กล้าหาญ
ชื่อผู้วิจัย(Eng) Mr. Wirach Klaharn
การศึกษามหาบัณฑิต เอกการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร, ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต บริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล 133 หมู่ 2 ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต 83110
ปี พ.ศ. 2549
http://www.thaiedresearch.org

วัตถุประสงค์
1.เพื่อศึกษาการดำเนินงานการจัดบริการการศึกษาสำหรับเด็กพิการของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดในภาคใต้
2.เพื่อเปรียบเทียบการดำเนินงานการจัดบริการการศึกษาสำหรับเด็กพิการระหว่างศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดที่จัดบริการครบกับไม่ครบทุกประเภทความพิการ
3.เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานการจัดบริการการศึกษาสำหรับเด็กพิการของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด

กลุ่มตัวอย่าง
ได้แก่ ผู้บริหาร ครูผู้ปฏิบัติงานในศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดในภาคใต้ และผู้ปกครองเด็กพิการ ปีการศึกษา 2548 จำนวน 337 คน จำแนกเป็นผู้บริหาร จำนวน 15 คน ครู จำนวน 72 คน และผู้ปกครองเด็กพิการ จำนวน 250 คน ซึ่งได้มาโดยใช้วิธีสุ่มแบบหลายขั้นตอน

ขั้นตอนการวิจัย

สมมุติฐาน
ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดที่จัดบริการการศึกษาแก่เด็กพิการครบกับไม่ครบทุกประเภทความพิการมีการดำเนินงานทุกด้าน แตกต่างกัน

กรอบแนวคิด
กรอบแนวคิดในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ใช้กรอบแนวคิดการบริหารการจัดการเรียนร่วมของ เบญจา ชลธาร์นนท์ (2546 : 3–6) ซึ่งจำแนกรูปแบบการบริหารการจัดการเรียนร่วมไว้ 4 ด้าน ได้แก่
1.ด้านนักเรียน (S–Students)
2.ด้านสภาพแวดล้อม (E- Environment)
3.ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน (A- Activities)
4.ด้านเครื่องมือ (T- Tools)
โดยผู้วิจัยได้นำแนวคิดดังกล่าวมาบูรณาการกับบทบาทหน้าที่ของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด (กระทรวงศึกษาธิการ 2543: 4)

ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหาร และครูที่ปฏิบัติงานในศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดในภาคใต้ และผู้ปกครองเด็กพิการ จำนวน 2,197 คน จำแนกเป็นผู้บริหาร จำนวน 24 คน ครู จำนวน 96 คน และผู้ปกครองเด็กพิการ จำนวน 2,077 คน

ตัวแปรที่ศึกษา
ตัวแปรอิสระ ได้แก่ ลักษณะของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด จำแนกเป็น
1.ศูนย์ที่จัดบริการการศึกษาครบทุกประเภทความพิการ และ
2.ศูนย์ที่จัดบริการการศึกษาไม่ครบทุกประเภทความพิการ
ตัวแปรตาม ได้แก่ การดำเนินงานของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด จำแนกเป็น 4 ด้านได้แก่
2.1 ด้านการช่วยเหลือนักเรียนพิการ
2.2 ด้านการจัดสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กพิการ
2.3 ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กพิการ และ
2.4 ด้านการจัดให้มีเครื่องมือที่จำเป็นในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ

เครื่องมือ ( tool )
เครื่องมือการวิจัย เป็นแบบสอบถามแบบมาตรประมาณค่า ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้น มีค่าความเที่ยงทั้งฉบับ เท่ากับ .97

การรวบรวมข้อมูล
การเก็บรวมรวมข้อมูล ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลทางไปรษณีย์ ในระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2548 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 แบบสอบถามส่งไปจำนวน 337 ฉบับ ได้รับคืนมา จำนวน 337 ฉบับ แบบสอบถามได้คืน คิดเป็นร้อยละ 100

การวิเคราะห์
1.ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามวิเคราะห์โดยใช้การหาค่าร้อยละ
2.การดำเนินงานการจัดบริการการศึกษาสำหรับเด็กพิการของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดในภาคใต้ วิเคราะห์โดยการหาค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และแปลผลตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
3.เปรียบเทียบการดำเนินงานการจัดบริการการศึกษาสำหรับเด็กพิการ ระหว่างศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดที่จัดบริการครบกับไม่ครบทุกประเภทความพิการ โดยใช้การทดสอบค่าที
4.ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานการจัดบริการการศึกษาสำหรับเด็กพิการของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด วิเคราะห์โดยใช้การแจกแจงความถี่

ผลการวิจัย
1.ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดในภาคใต้มีการดำเนินงานการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ ทุกด้านอยู่ในระดับมาก โดยด้านการช่วยเหลือนักเรียนพิการมีค่าเฉลี่ยสูงสุด และด้านการจัดสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กพิการมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด
2.ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดที่จัดบริการครบกับไม่ครบทุกประเภทความพิการ มีการดำเนินงานการจัดบริการการศึกษาสำหรับเด็กพิการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในด้านการช่วยเหลือนักเรียนพิการ และด้านการจัดให้มีเครื่องมือที่จำเป็นในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการ ส่วนด้านการจัดสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กพิการ และด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กพิการมีการดำเนินการไม่แตกต่างกัน
3.ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิการของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดที่สำคัญ ได้แก่ ควรจัดหาครูสอนเด็กพิการเฉพาะด้านให้เพียงพอ เช่น ครูการศึกษาพิเศษ ครูกายภาพบำบัด ครูกิจกรรมบำบัด เป็นต้น ควรให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดทำตารางกิจกรรมการฟื้นฟูเด็กพิการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ปกครองสามารถนำเด็กพิการเข้ารับการฟื้นฟูได้อย่างต่อเนื่อง และควรจัดหาสื่อ อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับเด็กพิการแต่ละประเภทให้เพียงพอ ตามลำดับ

ข้อเสนอแนะ
จากผลการวิจัยซึ่งพบว่าศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดในภาคใต้มีการดำเนินงานการจัดบริการการศึกษาสำหรับเด็กพิการทุกด้านอยู่ในระดับมาก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณา ค่าเฉลี่ยแต่ละด้าน ปรากฏว่าด้านการจัดสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กพิการมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าด้านอื่นๆ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะดังนี้
1.ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
1.1ข้อเสนอแนะสำหรับศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด
ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดควรกำหนดแนวทางในการพัฒนาด้านการจัดสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กพิการ โดยเน้นในเรื่องในการจัดหาอุปกรณ์ติดตั้งโทรศัพท์ภายในอาคารให้เหมาะสมกับคนพิการแต่ละประเภท การจัดทำทางลาดเพื่อให้คนพิการทางร่างกายสามารถนำเก้าอี้ล้อเลื่อนเข้าสู่อาคาร หรือห้องเรียนได้ การจัดทำประตูที่เหมาะสมกับความพิการ การจัดทำทางเดิน ทางเชื่อม และกำหนดจุดจอดรถรับส่งคนพิการใกล้กับทางเข้าออกตัวอาคารเพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการ ซึ่งรายการเหล่านี้ปรากฏว่าศูนย์มีการดำเนินการอยู่ในระดับต่ำกว่ารายการอื่นๆ
1.2ข้อเสนอแนะสำหรับสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษควรให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อให้ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนำไปพัฒนาการจัดสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กพิการในศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานของระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ

ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
ควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กพิการในศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการนำผลการวิจัยไปใช้เป็นแนวทางในการจัดสภาพแวดล้อมภายในศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดให้สอดคล้องกับลักษณะและประเภทความพิการมากยิ่งขึ้น

No comments:

Post a Comment