MURSAT Blog


บล็อคส่วนบุคคล ใช้เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการระหว่างนักศึกษาปริญญามหาบัณฑิต หลักสูตรแขนงวิชาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก บทความวิจัย บทความวิชาการ หรือผลงานอื่นใดที่อ้างอิงถึงในบล็อคนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ในด้านวิชาการและการศึกษาเพียงเท่านั้น

Thursday, August 19, 2010

สภาพปัจจุบันของการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยินในโรงเรียนโสตศึดษา

ชื่องานวิจัย/บทความ
สภาพปัจจุบันของการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยินในโรงเรียนโสตศึดษา

แหล่งอ้างอิง
http://www.thaiedresearch.org/thaied/index.php

วัตถุประสงค์
1. เพื่อสำรวจชนิดและจำนวนของเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยินในโรงเรียนโสตศึกษา
2. เพื่อศึกษาสภาพการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยินในโรงเรียนโสตศึกษา
3. เพื่อศึกษาปัญหาการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยินในโรงเรียนโสตศึกษา
4. เพื่อศึกษาความต้องการ ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะในการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยิน ในโรงเรียนโสตศึกษา

กลุ่มผู้เข้าร่วมงานวิจัย
ประชากรในการวิจัยครั้งนี้ คือ ครูประจำชั้น ครูพิเศษ และครูฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยิน จำนวน 389 คน และนักเรียนที่พิการทางการได้ยิน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 1,232 คน ในโรงเรียนโสตศึกษา สังกัดกองการศึกษาเพื่อคนพิการ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นโรงเรียนประเภทประจำ ซึ่งมีทั้งหมด 10 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเศรษฐเสถียร กทม. โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ กทม. โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนนทบุรี จ.นนทบุรี โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จ.เชียงใหม่ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดตาก โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดขอนแก่น โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดชลบุรี โรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดสงขลา และโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช
กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน ได้แก่ ครูประจำชั้น ครูพิเศษ และครูฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยิน จำนวน 73 คน ครูหรือเจ้าหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องช่วยและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนหูหนวก นักเรียน จำนวน 90 คน จาก 5 โรงเรียน คือ โรงเรียนเศรษฐเสถียร กทม. โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร จ.เชียงใหม่ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดขอนแก่น โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดชลบุรี และ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดสงขลา

ขั้นตอนงานวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. แบบสำรวจอุปกรณ์เครื่องช่วยและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยิน
2. แบบสำรวจข้อมูลการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยิน ของครู ในโรงเรียนโสตศึกษา
3. แบบสำรวจข้อมูลการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยิน ของนักเรียนพิการทางการได้ยิน

เก็บรวบรวมข้อมูลโดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้

1. แบบสำรวจอุปกรณ์เครื่องช่วยและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยิน โดยสิ่งแบบสำรวจทางไปรษณีย์ไปยังโรงเรียนทั้ง 5 แห่ง ในช่วงเดือนสิงหาคม 2543
2.แบบสำรวจข้อมูลการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยิน ของครูในโรงเรียนโสตศึกษา โดยให้ครูประจำชั้น ครูพิเศษ และครูฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินทุกคนจากโรงเรียนตัวอย่าง กรอบแบบสอบถาม ทำการเก็บข้อมูลในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2543
3. แบบสำรวจข้อมูลการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยิน ของนักเรียนพิการทางการได้ยิน โดยผู้วิจัยสัมภาษณ์นักเรียนตัวอย่าง ซึ่งจัดสัมภาษณ์เป็นกลุ่มย่อย ประมาณกลุ่มละ 3-4 คน อธิบายข้อคำถามในแต่ละข้อ ผ่านล่ามภาษามือซึ่งเป็นผู้ช่วยวิจัย บางส่วน ให้นักเรียนเป็นผู้กรอกเอง ส่วนในคำถามปลายเปิดนักเรียนเป็นผู้ตอบเป็นภาษามือ จากนั้นล่ามภาษามือ ซึ่งเป็นผู้ช่วยวิจัย ทำการแปลเป็นภาษาพูดให้ผู้วิจัยเพื่อเขียนคำตอบให้นักเรียนแต่ละคน ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลในเดือน สิงหาคม – กันยายน 2543

ผลการทดลอง
อุปกรณ์เครื่องช่วยและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยินที่มีการจัดบริการในทุกโรงเรียน ได้แก่ เครื่องช่วยฟังแบกกล่อง เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังหู เครื่องขยายเสียงระบบเอฟเอ็ม ห้องเรียนระบบสนามแม่เหล็กกระจกเงา คอมพิวเตอร์สอนพูด โทรทัศน์ เครื่องเล่นวิดีโอเทป และวิทยุเทป โดยอุปกรณ์ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพดี และได้รับจัดสรรด้วยเงินงบประมาณ ผู้รับผิดชอบดูแลส่วนใหญ่ คือ ครูประจำชั้น ผลการใช้เทคโนโลยีของครู พบว่า มีการนำโทรทัศน์ กระจกเงา เครื่องช่วยฟังชนิดทัดหลังหู และเครื่องเล่นวิดีโอเทปมาใช้ในระดับมาก และมีความต้องการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมากที่สุด เทคโนโลยีที่ทั้งนักเรียนหูตึง และนักเรียนหูหนวกใช้ในระดับมาก ได้แก่ ไฟสัญญาณ และโทรทัศน์ เทคโนโลยีนักเรียนหูตึงมีความต้องการมากที่สุด คือ อินเตอร์เน็ต รองลงมา ได้แก่ เครื่องช่วยฟังชนิดทัดหลังหู และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เทคโนโลยีที่นักเรียนหูหนวกมีความต้องการมากที่สุด คือ ไฟสัญญาณ รองลงมาได้แก่ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล วีดิทัศน์ที่มีล่ามภาษามือ อินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์สำหรับคนหูหนวก จากการศึกษาทำให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่ทั้งครูและนักเรียนส่วนใหญ่ประสบ คือ ขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี ขาดแคลนงบประมาณในการจัดซื้อ และบำรุงรักษาเทคโนโลยี และจำนวนเทคโนโลยีไม่เพียงพอกับจำนวนและความต้องการของนักเรียน

วิเคราะห์งานวิจัย
1. โรงเรียนควรส่งเสริมให้ครูในโรงเรียนใช้ภาษามือไทยให้มากขึ้น เพื่อให้การสื่อสารกับนักเรียนเป็นไปอย่างชัดเจนและถูกต้อง
2. การให้บริการเครื่องช่วยฟังในโรงเรียน ครูผู้รับผิดชอบควรประสานงาน และร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อจัดบริการให้แก่นักเรียนทุกคนอย่างเหมาะสม มีการตรวจสอบระดับการได้ยินของนักเรียนเป็นประจำทุกปี จัดทำพิมพ์หูให้มีขนาดพอดี และหมั่นตรวจสอบสมรรถภาพการทำงานของเครื่องช่วยฟังอย่างสม่ำเสมอ
3. ครูควรกระตุ้นผู้ปกครองของนักเรียนให้เกิดความสนใจและเห็นความสำคัญของการใช้เครื่องช่วยฟัง และจัดหาเครื่องช่วยฟังให้กับนักเรียนตามสิทธิของคนพิการที่พึงได้รับจากรัฐบาลตามพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534
4. ครูควรกระตุ้นให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญและเอาใจใส่เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่นักเรียนใช้ และช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางการได้ยินให้กับนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ เช่น ฝึกฟัง – ฝึกพูด ให้กับนักเรียนที่บ้าน

ประโยชน์ที่ได้รับ
ข้อเสนอที่ควยนำไปพัฒนาต่อยอดดังนี้
1. ควรทำการศึกษาความรู้และทัศนคติ ของครูและนักเรียนพิการทางการได้ยิน ในการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยินเฉพาะอย่าง เพื่อได้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคจากการใช้เทคโนโลยีนั้น ๆ อย่างแท้จริง
2. ควรศึกษาผลการใช้เทคโนโลยีเฉพาะอย่าง ความพึงพอใจ และประเมินผลจากการใช้ในการพัฒนาทักษะทางภาษาของนักเรียน
3. ควรทำการศึกษาประสิทธิภาพของการใช้เครื่องช่วยฟังในนักเรียนหูตึงและนักเรียนหูหนวก เพื่อให้มีการจัดบริการเครื่องช่วยฟังให้แก่นักเรียนหูหนวกมากขึ้น
4. ควรศึกษาปัญหาและความต้องการในการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยิน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยใช้การสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนและตรงตามความเป็นจริง เพื่อทราบถึงปัญหาและความต้องการของนักเรียนพิการทางการได้ยินเกี่ยวกับการจัดบริการเทคโนโลยีในโรงเรียนครบทุกระดับชั้น
5. ควรทำการศึกษาความรู้และอิทธิพลของผู้ปกครองต่อเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางการได้ยิน ศึกษาเฉพาะกรณีนักเรียนไป-กลับ ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงผลของครอบครัวต่อการใช้เทคโนโลยีของนักเรียน

No comments:

Post a Comment